เมื่อปัญหาทางคดีความของแต่ละท่านล้วนเป็นเรื่องสำคัญ จึงนำมาสู่การหาทนายความเพื่อมาทำหน้าที่ เราจึงสรุปเป็นบทความการเลือกทนายความเบื้องต้นไว้ดังนี้
คำแนะนำเบื้องต้นในการเลือกทนายความ
เมื่อกฎหมายเป็นเรื่องเกี่ยวข้องสัมพันธ์ในชีวิตประจำวันไม่ว่าด้านใดด้านหนึ่ง กฎหมายจึงถือเป็นเรื่องสำคัญที่ทุกท่านควรใส่ใจและวางแผนจัดการเพื่อป้องกันปัญหาข้อพิพาทที่อาจเกิดขึ้นหรือหาแนวทางเพื่อรับมือเผื่อว่าในอนาคตท่านอาจจะต้องเข้ามาเกี่ยวข้องในกระบวนการยุติธรรมทางศาลไม่ว่าในฐานะการฟ้องร้องดำเนินคดี หรือการต่อสู้คดีทางศาลก็ตาม
ทั้งนี้ แม้ว่ากฎหมายจะเป็นเรื่องสำคัญ แต่ก็ต้องยอมรับว่ากฎหมายนั้นมีหลากหลายและเป็นเรื่องที่มีความซับซ้อนต้องอาศัยความรู้ความเชี่ยวชาญในการศึกษาวิเคราะห์เพื่อนำมาปรับใช้ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ดังนี้จึงไม่ใช่เรื่องที่บุคคลทั่วไปจะชื่นชอบและศึกษาเรียนรู้จนเกิดความชำนาญในการปรับใช้กฎหมายใด ๆ ก็ตาม ด้วยเหตุนี้เองการคัดเลือกทนายความเพื่อมอบหมายให้เป็นตัวแทนช่วยจัดการป้องกันหรือแก้ไขปัญหาทางกฎหมายนั้นจึงเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญและต้องคัดเลือกอย่างใส่ใจ ซึ่งการพิจารณาคัดเลือกนี้ปัจจัยที่นำมาพิจารณาประกอบย่อมหลากหลาย แต่อย่างไรก็ตามในเบื้องต้น ผู้ว่าจ้างควรพิจารณาถึงความเหมาะสมต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
- การพูดคุยต้องสื่อสารได้อย่างชัดเจน บอกแนวทางการดำเนินการต่าง ๆ ได้กระจ่างอยู่บนหลักความเป็นจริง มีเหตุผลสนับสนุนรองรับ มีข้อกฎหมายอ้างอิงประกอบในเรื่องนั้น ๆ หรือมีความเป็นไปได้ตามข้อเท็จจริงและพยานหลักฐาน
- เอาใจใส่และให้ความสำคัญกับคดีที่ได้รับมอบหมาย ทำงานอย่างใส่ใจเต็มความสามารถ แจ้งความคืบหน้าทางคดีให้ลูกความทราบเป็นระยะ ไม่ทอดทิ้งคดี
- ไม่อวดอ้างทำนองว่าจะช่วยเหลือลูกความให้ได้รับประโยชน์ทางคดีในลักษณะพิเศษ ซึ่งไม่ได้อยู่บนหลักเหตุผลหรือขอบอำนาจของกฎหมาย เช่นอวดอ้างว่าสนิทสนมกับผู้พิพากษา หรือรู้จักผู้มีชื่อเสียงตำแหน่งใหญ่โตที่สามารถให้ความช่วยเหลือทางคดีได้ หรืออวดอ้างความรู้ความสามารถไปในทางรับรองผลคดีว่าตนจะทำให้ชนะคดีได้อย่างแน่นอน ทั้งที่ข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายไม่ได้เป็นเช่นนั้น
- ไม่แนะนำลูกความไปในทางที่ไม่ถูกไม่ควรซึ่งทำให้ลูกความหรือบุคคลอื่นเสียหาย เช่นให้เบิกความเท็จ ให้บิดเบือนเรื่องราวข้อเท็จจริง เป็นต้น
- ราคาค่าว่าจ้างควรอยู่ในหลักความสมเหตุสมผล ไม่เรียกค่าวิชาชีพมากหรือน้อยเกินไปเพราะวิชาชีพนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการยุติธรรม และลูกความคือบรรดาผู้ได้รับความเดือดร้อนทางอรรถคดีต่าง ๆ แต่ทั้งนี้หากทนายความเรียกราคาค่าจ้างถูกไปย่อมไม่สอดคล้องกับลักษณะการทำงานของวิชาชีพซึ่งต้องใช้ระยะเวลาและทักษะพิเศษในการค้นคว้าข้อกฎหมายตลอดจนแนวคำพิพากษาศาลที่เกี่ยวข้อง และอาจไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่จำเป็นในการดำเนินการ เช่นการแสวงหาพยานหลักฐาน การลงตรวจสอบพื้นที่เกิดเหตุ การติดต่อประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็น ศาล สถานีตำรวจ หน่วยงานราชการ เป็นต้น
ดังนั้นแม้ว่าการเรียกค่าจ้างว่าความจะเป็นเรื่องการตกลงระหว่างทนายความกับผู้ว่าจ้าง แต่หากราคานั้นไม่เหมาะสมก็อาจส่งผลต่อประสิทธิภาพของงานและในที่สุดทนายความย่อมไม่สามารถประกอบวิชาชีพนี้ได้อย่างยั่งยืน