แชร์.jpg

เล่นแชร์ฟ้องร้องเป็นคดีได้หรือไม่

หลายท่านคงคุ้นเคยกับการเล่นแชร์ หรือ วงแชร์ แต่ก็อาจสงสัยกันว่าแท้จริงแล้วการเล่นแชร์นั้น ผิดกฎหมายหรือไม่ และเล่นแชร์ ฟ้องคดีได้หรือไม่ บทความนี้จะช่วยให้ความไขความสงสัยให้ทุกท่านค่ะ


 เล่นแชร์ คืออะไร


    “การเล่นแชร์” หมายความว่า การที่บุคคลตั้งแต่สามคนขึ้นไปตกลงกันเป็นสมาชิกวงแชร์ โดยแต่ละคนมีภาระที่จะส่งเงินหรือทรัพย์สินอื่นใดรวมเข้าเป็นทุนกองกลางเป็นงวด ๆ เพื่อให้สมาชิกวงแชร์หมุนเวียนกันรับทุนกองกลางแต่ละงวดนั้นไปโดยการประมูลหรือโดยวิธีอื่นใด และให้หมายความรวมถึงการรวมทุนในลักษณะอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวงด้วย ดังนั้น จึงอาจมีการแข่งขันกันประมูลเงินทุนกองกลางโดยการให้ดอกเบี้ย หากสมาชิกในวงแชร์คนใดเสนอให้ดอกเบี้ยสูงสุดในการประมูลทุนกองกลางในงวดนั้นก็มีสิทธิได้รับเงินทุนกองกลางในงวดนั้นไป


ข้อควรรู้  เกี่ยวกับการเล่นแชร์ ตามพระราชบัญญัติการเล่นแชร์ พ.ศ. 2534

  1. ห้ามนิติบุคคลเป็นนายวงแชร์หรือจัดให้มีการเล่นแชร์ (ดูมาตรา 5)
  2. ห้ามโฆษณาหรือประกาศชี้ชวนให้ประชาชนทั่วไปเข้าร่วมเล่นแชร์  (ดูมาตรา 9)
  3.  บุคคลธรรมดาตั้งวงแชร์ได้ แต่การตั้งวงแชร์นั้น ต้องอยู่ภายใต้หลักเกณฑ์ดังนี้ (ดูมาตรา 6)
    - ห้ามตั้งวงแชร์รวมกันเกิน 3 วง
    - ห้ามมีสมาชิกทุกวงรวมกันเกิน 30 คน
    - ห้ามมีเงินกองทุนหรือเงินกองกลางต่อ 1 งวดรวมกันเกิน 300,000 บาท
    - ห้ามนายวงแชร์ได้รับผลประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่น นอกจากเงินกองกลางการเล่นแชร์เท่านั้น 
    ฝ่าฝืน!! ผลคือนายวงแชร์อาจฟ้องเรียกให้สมาชิกวงแชร์ชำระค่าแชร์ที่ยังไม่ชำระไม่ได้ 
    ** แต่ไม่กระทบกระเทือนถึงการที่สมาชิกวงแชร์จะฟ้องคดีหรือใช้สิทธิเรียกร้องเอากับนายวงแชร์หรือผู้จัดให้มีการเล่นแชร์**
  4. เล่นแชร์กฎหมายไม่บังคับว่าต้องทำเป็นหนังสือ
    เล่นแชร์เป็นสัญญาอย่างหนึ่งระหว่างนายวงแชร์กับลูกวงแชร์ กฎหมายไม่ได้บังคับว่าจะต้องทำเป็นหนังสือ หรือต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ ดังนั้น การเล่นแชร์แม้ไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือก็ฟ้องร้องได้
           อย่างไรก็ตามแม้ว่ากฎหมายไม่บังคับ แต่การทำสัญญาเล่นแชร์ไว้ย่อมเป็นประโยชน์ต่อการฟ้องร้องดำเนินคดีในชั้นศาล เพราะสัญญาเล่นแชร์นั้นย่อมเป็นการยืนยันชัดเจนว่ามีการเล่นแชร์กันเกิดขึ้นจริงโดยหากนำมาประกอบรายการแสดงการรับ-จ่ายเงินในบัญชีตลอดจนพยานหลักฐานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องย่อมเป็นประโยชน์ในทางพิจารณา

เล่นแชร์ ไม่ถือเป็นความผิดตามกฎหมาย


    การเล่นแชร์  ไม่ถือว่าเป็นความผิดตามกฎหมาย  เนื่องจากการเล่นแชร์ ไม่ใช่การพนันแต่เป็นสัญญาชนิดหนึ่งที่มีคู่สัญญาคือนายวงแชร์ กับสมาชิกวงแชร์
           แต่อย่างไรก็ตามในการเล่นแชร์นั้นก็ต้องเป็นไปตามพระราชบัญญัติการเล่นแชร์ พ.ศ. 2534 ซึ่งกำหนดหลักเกณฑ์สำหรับนายวงแชร์ให้ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย หากฝ่าฝืนถือว่ามีความผิดต้องรับโทษตามที่พ.ร.บ.ดังกล่าวกำหนดไว้ 
           นอกจากนี้ ในการเล่นแชร์นั้นแม้จะไม่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติการเล่นแชร์ พ.ศ. 2534 แต่หากนายวงแชร์หรือสมาชิกวงแชร์คนใดได้กระทำผิดข้อตกลงหรือผิดสัญญาในการเล่นแชร์นั้นก็อาจจะเป็นการผิดสัญญาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หรืออาจเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาได้


 ความผิดที่เกี่ยวข้องกับการเล่นแชร์

  1. ความผิดตามพระราชบัญญัติการเล่นแชร์ พ.ศ. 2534
    สำหรับความผิดตามพระราชบัญญัติการเล่นแชร์ พ.ศ. ๒๕๓๔ นั้นเป็นความผิดที่รัฐเท่านั้นเป็นผู้เสียหาย ราษฎรไม่เป็นผู้เสียหาย
  2. ความผิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
    โดยปกติแล้วการเล่นแชร์เป็นนิติกรรมทางแพ่ง หากนายวงแชร์ไม่จัดสรรเงินให้แก่สมาชิกวงแชร์ที่ประมูลแชร์ได้หรือลูกแชร์ไม่ส่งเงินเข้ากองกลางก็มักเป็นเรื่องผิดสัญญาทางแพ่งกัน ซึ่งต้องฟ้องร้องดำเนินคดีแพ่งเพื่อเรียกเงินดังกล่าวคืน ดังนี้จะมาแจ้งความร้องทุกข์ให้ตำรวจดำเนินการหรือฟ้องร้องเป็นคดีอาญาไม่ได้
    2.1 กรณีสมาชิกฟ้องนายวงแชร์
    -  กรณีนายวงแชร์มีเจตนาทำวงแชร์ และสมัครใจแล่นแชร์ แต่บริหารผิดพลาด  สมาชิกวงแชร์ฟ้องร้องคดีแพ่งเรียกเงินคืนได้
    เช่นนายวงแชร์มีการตั้งวงแชร์และมีการบริหารจัดการต่างๆ ให้มีการเล่นแชร์กันจริง แต่ต่อมาภายหลังไม่สามารถนำเงินกองกลางมอบให้แก่สมาชิกที่ประมูลแชร์ได้ ไม่ว่าด้วยเหตุผลใดก็ตาม หรือที่เราเรียกว่า บ้านล้ม  หรือ วงแชร์ล้ม กรณีนี้เป็นการผิดสัญญาทางแพ่ง
    2.2 กรณีนายวงแชร์ฟ้องสมาชิก
    -  สมาชิกวงแชร์ผิดสัญญาไม่ส่งเงินค่าแชร์เข้ามากองกลางให้ครบทุกงวด เป็นการผิดสัญญาทางแพ่ง นายวงแชร์ซึ่งรับผิดชอบสำรองจ่ายแทนไปก่อน สามารถไปฟ้องร้องคดีแพ่งไล่เบี้ยเงินจากลูกแชร์ที่ผิดสัญญาได้
           ดังนี้แม้ว่าสมาชิกจะประมูลแชร์ได้แล้วแต่ผิดสัญญา ไม่ชำระเงินแต่ละงวดเข้ามาตามที่ตกลง แต่นายวงแชร์ก็ต้องดำเนินการให้มีการเล่นแชร์ต่อไปตามปกติโดยนายวงแชร์ต้องรับผิดชอบสำรองจ่ายแทนไปก่อน และไปฟ้องร้องคดีแพ่งไล่เบี้ยเงินจากลูกแชร์ที่ผิดสัญญา

     เลิกสัญญาเล่นแชร์นายวงแชร์(ท้าวแชร์)ต้องรับผิดชอบในการคืนเงิน
               ระหว่างเล่นแชร์กัน ลูกวงแชร์แต่ละคนต้องชำระเงินให้นายวงแชร์เพื่อรวบรวมไปให้ลูกวงแชร์ผู้ประมูลแชร์ได้  เมื่อมีการเลิกสัญญาเล่นแชร์กันแล้ว ทั้งนายวงแชร์และลูกวงแชร์ซึ่งถือว่าเป็นคู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 วรรคหนึ่ง กล่าวคือ ลูกวงแชร์ผู้ประมูลแชร์ได้แล้วจะต้องคืนเงินที่ได้รับไปให้แก่ลูกวงแชร์คนอื่น ๆ ที่ยังไม่ได้ประมูล โดยนายวงแชร์ยังมีหน้าที่รับผิดชอบในการคืนเงินดังกล่าวจนกว่าลูกวงแชร์ที่ยังไม่ได้ประมูลจะได้รับเงินคืนครบตามจำนวนที่มีสิทธิได้
     
  3. ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา
    3.1 กรณีสมาชิกฟ้องนายวงแชร์
    -  กรณีนายวงแชร์ไม่มีเจตนาทำวงแชร์ และหลอกลวงตั้งใจที่จะนำเงินนั้นไปโดยทุจริตแต่แรก  
    เช่นนายวงแชร์ไม่ได้มีเจตนาจะตั้งวงแชร์และไม่มีเจตนาเล่นแชร์แต่แรก แต่เปิดวงโดยหลอกลวงเอาเงินของสมาชิกทุกคนเข้ามาไว้ในกองกลาง แต่ในงวดแรกนั้นเองนายวงแชร์ได้เอาเงินที่ส่งเข้ากองกลางไปเนื่องมาจากการหลอกลวงนั้น
    3.2 กรณีนายวงแชร์ฟ้องสมาชิก
    -   กรณีสมาชิกวงแชร์ตั้งใจจะไม่ชำระเงินเข้ากองกลางตั้งแต่แรก(ตั้งใจจะเชิดเงินหนีแต่แรก) 
    เช่นสมาชิกวงแชร์ประมูลแชร์ได้ไปตั้งแต่งวดแรกและหนีหายไปทันทีไม่ส่งเงินเข้ากองกลางเลยทำให้นายวงแชร์ต้องสำรองเงินจ่ายไปก่อน
     

อ้างอิง 
- พระราชบัญญัติการเล่นแชร์ พ.ศ. 2534
- ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391
- ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 341 มาตรา 352