ฉ้อโกง (ฉบับย่อ) ทำความเข้าใจ ถูกหลอกลวง ไม่ได้หมายถึงถูกฉ้อโกงเสมอไป ความผิดฐานฉ้อโกง เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 341
ความผิดฐานฉ้อโกง เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 341 มีใจความว่า ผู้ใดหลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือ ปดปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกและโดยการหลอกลวงนั้นทำให้ได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม หรือทำให้ผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม ทำ ถอน หรือทำลายเอกสารสิทธิ
กรณีเป็นเรื่องเท็จบางส่วน จริงบางส่วน แม้มีเรื่องจริงรวมอยู่ด้วยตาม ก็ถือว่าเป็นเรื่องเท็จ
การแสดงข้อความอันเป็นเท็จที่จะเป็นฉ้อโกง ต้องเป็นการแสดงข้อเท็จจริงในอดีตหรือปัจจุบัน เท่านั้น
ดังนั้นข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเหตุการณ์ในอนาคต แม้ไม่เป็นการฉ้อโกงแต่อาจเป็นเรื่องการให้คำมั่นหรือเป็นการสัญญาถึงเหตุการณ์ในอนาคตจึงอาจเป็นเพียงเรื่องผิดสัญญาทางแพ่งเท่านั้น
ความผิดฉ้อโกงจะถือว่าความผิดสำเร็จเมื่อหลอกลวงแล้วได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม ดังนั้นหากไม่มีผู้ใดหลงเชื่อคำหลอกลวงของผู้กระทำจึงไม่มีการส่งมอบทรัพย์สินให้เลย จึงไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกง
หรือการส่งมอบทรัพย์สินให้โดยไม่ได้คำนึงถึงเลยว่ากำลังถูกหลอกลวงอยู่หรือไม่ คือแม้รู้ว่าถูกหลอกลวงอยู่ก็ยังเต็มใจที่จะให้ ไม่ใช่ให้ไปเพราะว่าหลงเชื่อ ดังนี้จึงไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกง เช่นให้เงินขอทานที่แกล้งตาบอด
หรือกลับกันหากมีการส่งมอบทรัพย์สินให้จริงแต่ไม่ใช่การให้เพราะเชื่อตามที่ถูกหลอกลวง แต่ให้เพราะมีเหตุผลอย่างอื่น กรณีอาจเป็นแค่การพยายามฉ้อโกงเท่านั้น เช่นยอมมอบทรัพย์สินให้เพราะจะวางแผนจับกุม
กรณีนี้ความผิดจะสำเร็จเมื่อมีการ ทำ ถอน หรือทำลายเอกสารสิทธิ แล้ว
เอกสารสิทธิเช่น สัญญากู้ สัญญาจะซื้อขาย สลากกินแบ่งรัฐบาล เช็ค เป็นต้น
หากความเสียหายจากการถูกหลอกลวงที่ท่านได้รับ เข้าข่ายว่าท่านกำลังถูกบุคคลอื่นฉ้อโกงซึ่งเป็นความผิดทางอาญา ทั้งนี้ขอให้ท่านรีบดำเนินการแจ้งความร้องทุกข์ หรือมอบหมายให้ทนายความยื่นฟ้องคดีโดยตรง โดยต้องดำเนินการภายในระยะเวลา 3 เดือนนับแต่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด มิฉะนั้นคดีขาดอายุความ