ทำไมต้องมีการร้องตั้งผู้จัดการมรดก

ทำไมต้องมีการร้องตั้งผู้จัดการมรดก

เมื่อมีผู้เสียชีวิตเรื่องสำคัญที่ทายาทต้องรู้ หากยังไม่มีคำสั่งศาลตั้งผู้จัดการมรดก ทายาทอาจไม่สามารถดำเนินการจัดการทรัพย์มรดกได้ ดังนั้นหากต้องการยื่นคำร้องตั้งผู้จัดการมรดกหรือเป็นผู้จัดการมรดก ต้องรู้อะไรบ้าง ?


การร้องตั้งผู้จัดการมรดกคืออะไร

    การร้องตั้งผู้จัดการมรดก คือการยื่นคำร้องต่อศาลในกรณีที่มีการตายหรือมีเหตุตามที่กฎหมายกำหนดไว้เกิดขึ้น ทั้งนี้เพื่อให้ศาลได้พิจารณาถึงคุณสมบัติ เหตุขัดข้องจำเป็นตลอดจนเหตุอื่นตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ ก่อนที่ศาลจะมีคำสั่งแต่งตั้งผู้จัดการมรดกเพื่อเป็นตัวแทนดำเนินการจัดการทรัพย์สินและเกิดสิทธิหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ต่อไป 

 

 

จำเป็นหรือไม่ที่ต้องร้องตั้งผู้จัดการมรดก

    หากว่ามีการตายเกิดขึ้น การร้องตั้งผู้จัดการมรดกถือเป็นเรื่องจำเป็นของเหล่าทายาท ทั้งนี้แม้ว่าโดยหลักมรดกของผู้ตายจะตกทอดไปยังทายาททันทีโดยผลของกฎหมาย แต่ในทางปฏิบัติอาจเกิดปัญหาข้อขัดข้องต่าง ๆ ไม่ว่าจะด้วยระเบียบ ข้อบังคับตามกฎหมายตลอดจนข้อบังคับหรือหลักปฏิบัติของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ตาม ทำให้เหล่าทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกนั้นจะยังไม่สามารถดำเนินการจัดการใด ๆ ในทรัพย์มรดกได้ อาทิเช่น

  • ไม่สามารถรับโอนที่ดินมรดกได้
  • ไม่สามารถถอนเงินในบัญชีธนาคารของผู้ตายได้
  • ไม่สามารถจำหน่าย จ่าย โอน ชำระหนี้ได้
  • ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงชื่อผู้มีสิทธิทางทะเบียนในทรัพย์สินจากชื่อของผู้ตายมาเป็นชื่อของทายาทหรือของบุคคลใด ๆ ได้


    โดยหน่วยงานหรือเจ้าหน้าที่มักจะแจ้งว่าจำเป็นต้องมีคำสั่งศาลตั้งผู้จัดการมรดกมายืนยันก่อนจึงจะสามารถดำเนินการได้ สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ล้วนเป็นเหตุขัดข้องในการจัดการหรือในการแบ่งปันทรัพย์มรดกทั้งสิ้น  ดังนี้จึงเป็นที่มาของการยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อให้ศาลมีคำสั่งตั้งผู้จัดการมรดก

 

 

ผู้จัดการมรดกคือใคร

    ผู้จัดการมรดก คือบุคคลซึ่งมีพินัยกรรมหรือคำสั่งศาลแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการมรดก ทั้งนี้เพื่อปฏิบัติตามพินัยกรรมหรือดำเนินการจัดการแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาท รวมไปถึงจัดการชำระหนี้ของกองมรดกนั้นด้วย 

 

    กล่าวโดยสรุป ผู้จัดการมรดกก็คือตัวแทนของทายาทที่มีสิทธิและหน้าที่ในการดำเนินการแบ่งปันหรือจัดการต่าง ๆ ในทรัพย์มรดกของผู้ตาย

 

 

หากสนใจว่าจ้างทนายความเพื่อยื่นคำร้องต่อศาลตั้งผู้จัดการมรดก ต้องทำยังไงบ้าง

 

ประการที่ 1. ตรวจสอบว่าตนเองเป็นผู้มีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลให้ตั้งผู้จัดการมรดกเพื่อจัดการทรัพย์สินของผู้ตายหรือไม่ โดยผู้มีสิทธิยื่นคำร้องต้องมีฐานะอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้
1.เป็นทายาทโดยธรรมที่มีสิทธิรับมรดก  
2.เป็นผู้รับพินัยกรรมที่มีสิทธิรับทรัพย์มรดกตามพินัยกรรม (กรณีมีการทำพินัยกรรม)
3.เป็นผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดก เช่นเป็นผู้ที่อยู่กินและทำมาหาได้ร่วมกันกับผู้ตายแต่ไม่ได้จดทะเบียนสมรส เป็นต้น 


ประการที่ 2. บุคคลที่จะมาเป็นผู้จัดการมรดกตัวแทนของทายาท  ต้องไม่มีคุณสมบัติต้องห้ามดังต่อไปนี้
1.ต้องไม่เป็นผู้ยังไม่บรรลุนิติภาวะ (ผู้เยาว์)
2.ต้องไม่เป็นบุคคลวิกลจริต หรือ บุคคลซึ่งศาลสั่งให้เป็นผู้เสมือนไร้ความสามารถ
3.ต้องไม่เป็นบุคคลซึ่งศาลสั่งให้เป็นบุคคลล้มละลาย

 

    ทั้งนี้ผู้ที่จะมาเป็นผู้จัดการมรดก อาจเป็นผู้ที่ยื่นคำร้องต่อศาลเองหรือบุคคลใดก็ตามที่ได้รับความไว้วางใจจากทายาท หรือเป็นบุคคลที่ตามพินัยกรรมหรือบุคคลที่ได้รับแต่งตั้งจากบุคคลตามพินัยกรรมระบุไว้ก็ได้ หากบุคคลนั้นยินยอมเป็นผู้จัดการมรดกและก็ไม่มีคุณสมบัติต้องห้ามตามที่กฎหมายกำหนดก็สามารถเป็นผู้จัดการมรดกได้
 

 

ข้อมูลอ้างอิงตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์