รับสภาพหนี้.jpg

ทำไมต้องรับสภาพหนี้ ?

หากวันนี้เราอยู่ในฐานะที่เป็นเจ้าหนี้มีสิทธิเรียกร้อง หรืออยู่ในฐานะเป็นลูกหนี้ของบุคคลใดก็ตาม การรับสภาพหนี้ถือเป็นเรื่องสำคัญที่ควรทราบ เนื่องจากเป็นช่องทางตามกฎหมายอย่างหนึ่งของเจ้าหนี้ซึ่งต้องการเรียกร้องเอาจากลูกหนี้หรือแม้แต่ตัวลูกหนี้เองก็ควรทำความเข้าใจถึงการกระทำบางอย่างว่าอาจส่งผลทางกฎหมายอย่างไรบ้าง


 

การรับสภาพหนี้คืออะไร ? 

    การรับสภาพหนี้ คือการกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดของลูกหนี้ เพื่อยอมรับว่าลูกหนี้เป็นหนี้ต่อเจ้าหนี้ ซึ่งมูลหนี้นั้นมีอยู่จริงและสามารถบังคับได้ตามกฎหมาย อย่างไรก็ดีหนี้ที่สามารถนำมารับสภาพหนี้กันได้นั้น ต้องไม่เป็นหนี้ที่เกิดจากนิติกรรมที่ขัดต่อกฎหมาย หรือนิติกรรมที่มีผลเป็นโมฆะซึ่งไม่ก่อให้เกิดหนี้ตามกฎหมาย   
 

วิธีการรับสภาพหนี้ 

การรับสภาพหนี้โดยลูกหนี้นั้น มีอยู่ 5 กรณี ตามมาตรา 193/14 (1) ดังนี้ 

  1. รับสภาพต่อเจ้าหนี้ตามสิทธิเรียกร้องโดยทำเป็นหนังสือ 
  2. ชำระหนี้ให้บางส่วน 
  3. ชำระดอกเบี้ย 
  4. ให้ประกัน 
  5. กระทำการใดๆอันเป็นการรับสภาพหนี้โดยปริยาย  
    ทั้งนี้ การรับสภาพหนี้จะต้องยอมรับก่อนหนี้เดิมจะขาดอายุความ และแม้ว่าการรับสภาพหนี้นั้นจะสามารถทำได้หลากหลายวิธีตามที่กล่าวมาข้างต้น แต่วิธีที่ได้รับความนิยมมากที่สุดก็คือ การทำหนังสือรับสภาพหนี้ 

ผลของการรับสภาพหนี้ คือทำให้อายุความในหนี้ที่รับสภาพนั้นสะดุดหยุดลง และเริ่มนับอายุความขึ้นใหม่  
 

 

หนังสือรับสภาพหนี้ คืออะไร ?

    หนังสือรับสภาพหนี้คือหนังสือที่ลูกหนี้ทำให้แก่เจ้าหนี้ของตนโดยรับรองว่าตนเป็นหนี้อยู่จริงซึ่งเจ้าหนี้มีสิทธิเรียกร้องได้ตามกฎหมายและต้องทำก่อนที่สิทธิเรียกร้องนั้นจะขาดอายุความ

 

 

หนังสือรับสภาพหนี้มีผลทางกฎหมายอย่างไร ?

    การทำหนังสือรับสภาพหนี้ มีเหตุผลที่ทำขึ้นหลัก ๆ คือ

  • เพื่อสงวนสิทธิของฝ่ายเจ้าหนี้มิให้สิทธิเรียกร้องของตนต่อลูกหนี้นั้นขาดอายุความ หรือ  
     
  • หนังสือรับสภาพหนี้นั้นเจ้าหนี้อาจใช้เป็นหลักฐานเพื่อแก้ไขปัญหาบางประการ เช่นหากขณะทำนิติกรรมนั้นทั้งสองฝ่ายไม่ได้ทำหนังสือหรือสัญญาใด ๆ ไว้เป็นหลักฐานเลย จึงมาตกลงทำหนังสือรับสภาพหนี้กันว่าเคยเป็นหนี้กันพร้อมระบุรายละเอียดแห่งหนี้ ซึ่งการทำสัญญารับสภาพหนี้นี้ทำให้หนี้ที่ไม่เคยมีหลักฐานแต่เดิมอาจกลายเป็นหนี้ที่มีหลักฐานฟ้องร้องดำเนินคดีกันได้


 

 ประเด็น
  • หากหนี้เดิมไม่มีอยู่จริง รับสภาพหนี้ไม่ได้ !!  
                การรับสภาพหนี้มิใช่เป็นการก่อสิทธิเรียกร้องขึ้นมาใหม่ แต่เป็นเพียงการทำให้อายุความแห่งสิทธิเรียกร้องในมูลหนี้นั้นสะดุดหยุดลง ดังนี้หากไม่มีมูลหนี้เดิมต่อกันแล้วย่อมจะมีการรับสภาพหนี้ไม่ได้  
     
  • หนี้ที่สามารถทำการรับสภาพหนี้หรือทำหนังสือรับสภาพหนี้นั้น จะเป็นหนี้ใดก็ได้   
               เนื่องจากมูลหนี้นั้นเกิดขึ้นได้หลายทางไม่ว่าจากนิติกรรมหรือจากนิติเหตุก็ตาม เช่น หนี้กู้ยืมเงิน หนี้ค้ำประกัน หนี้จากการซื้อขายสินค้า  หนี้ความรับผิดชดใช้ค่าเสียหายจากละเมิด หนี้เกิดจากลาภมิควรได้ เป็นต้น  
     
  • หนังสือรับสภาพหนี้ต้องมีลายมือชื่อของลูกหนี้เป็นสำคัญ  
               หนังสือรับสภาพหนี้ไม่จำเป็นจะต้องลงลายมือชื่อของเจ้าหนี้ หรือพยานก็ได้ กฎหมายกำหนดเพียงจะต้องลงลายมือชื่อของลูกหนี้เป็นสำคัญ เท่านั้น เพราะถือเป็นการแสดงเจตนาฝ่ายเดียวของลูกหนี้  
     
  • การรับสภาพความผิด ไม่ใช่การรับสภาพหนี้   
               “ การรับสภาพหนี้ ” มีได้เฉพาะภายในอายุความเท่านั้น หมายความว่าจะต้องทำกันก่อนที่จะขาดอายุความ ซึ่งมีผลทำให้อายุความสะดุดหยุดลง และเริ่มนับอายุความใหม่เท่าอายุความเดิม ทั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นการรับสภาพหนี้โดยวิธีใดก็ตาม   
               "รับสภาพความผิด" เกิดขึ้นภายหลังที่หนี้ขาดอายุความแล้ว กล่าวคือการยอมรับสภาพหนี้ภายหลังขาดหนี้เดิมขาดอายุความไปแล้ว ถือเป็นการ "รับสภาพความผิด" โดยต้องเริ่มนับอายุความใหม่และมีกำหนดอายุความ 2 ปี นับแต่วันที่ได้รับสภาพนั้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/35  
                ดังนั้นการรับสภาพความผิดนี้ไม่มีผลทำให้อายุความสะดุดหยุดลงแต่อย่างใด เพราะเมื่อหนี้นั้นขาดอายุความแล้วกรณีจึงไม่อาจจะสะดุดหยุดลงได้ แต่อย่างไรก็ตามก็ถือว่าเป็นการที่ลูกหนี้สละประโยชน์แห่งอายุความแล้ว ลูกหนี้ก็ต้องรับผิดชอบตามหนังสือรับสภาพความผิดนั้น โดยกฎหมายกำหนดให้มีอายุความ 2 ปี นับแต่วันที่ได้รับสภาพความผิด

 

หลักกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

 มาตรา 193/14 อายุความย่อมสะดุดหยุดลงในกรณี ดังต่อไปนี้  
  (1) ลูกหนี้รับสภาพหนี้ต่อเจ้าหนี้ตามสิทธิเรียกร้อง โดยทำเป็นหนังสือรับสภาพหนี้ให้ ชำระหนี้ให้บางส่วน ชำระดอกเบี้ย ให้ประกัน หรือกระทำการใดๆ อันปราศจากข้อสงสัยแสดงให้เห็นเป็นปริยายว่ายอมรับสภาพหนี้ตามสิทธิเรียกร้อง  
  (2) เจ้าหนี้ได้ฟ้องคดีเพื่อตั้งหลักฐานสิทธิเรียกร้องหรือเพื่อให้ชำระหนี้  
  (3) เจ้าหนี้ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลาย  
  (4) เจ้าหนี้ได้มอบข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการพิจารณา  
  (5) เจ้าหนี้ได้กระทำการอื่นใดอันมีผลเป็นอย่างเดียวกันกับการฟ้องคดี 


มาตรา 193/35 ภายใต้บังคับมาตรา 193/27 สิทธิเรียกร้องที่เกิดขึ้นจากการที่ลูกหนี้รับสภาพความรับผิดโดยมีหลักฐานเป็นหนังสือหรือโดยการให้ประกัน ตามมาตรา 193/28 วรรคสอง ให้มีกำหนดอายุความ 2 ปีนับแต่วันที่ได้รับสภาพความรับผิดหรือให้ประกัน