หมิ่นประมาท.jpg

ทำแบบไหนเข้าข่ายหมิ่นประมาท !!

ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 326 วางหลักว่า ผู้ใดใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ต้องระวางโทษ


 

การหมิ่นประมาทคืออะไร 

        หากสรุปย่อ ๆ การหมิ่นประมาท ก็คือการใส่ความผู้อื่นโดยมีบุคคลที่สามเข้ามารับรู้เกี่ยวข้อง และการใส่ความนั้นทำให้ผู้ถูกใส่ความอาจจะเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชังได้นั่นเอง

        การหมิ่นประมาท ไม่ใช่ การดูหมิ่นซึ่งหน้า โดยเป็นคนละฐานความผิดกัน แต่ทั้งสองเรื่องล้วนเป็นความผิดทางอาญาเหมือนกัน 

 

การใส่ความ  มีข้อที่ต้องพิจารณา 5 ประการ คือ

 

    1.การใส่ความที่จะเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทนั้น ไม่จำกัดวิธี ไม่ว่าทางวาจา หรือลายลักษณ์อักษร กริยาท่าทางหรือโดยพฤติการณ์อื่นก็ตาม เช่นเขียนจดหมาย, ส่งข้อความ ,โพสต์ข้อความ , ตั้งคำถาม , ตอบคำถาม ,บอกเล่า ,วาดภาพ , ถ่ายวีดีโอที่มีการร่วมประเวณีกันแล้วนำไปให้ผู้อื่นดู ,ใช้ภาษาใบ้หรือใช้สัญลักษณ์  ฯลฯ

    2.ต้องเป็นการใส่ความในเรื่องที่เป็นอดีต หรือ ปัจจุบันเท่านั้น 

    3.ต้องเป็นการใส่ความในลักษณะยืนยันข้อเท็จจริงในเรื่องที่ใส่ความ

    4.เรื่องที่ใส่ความจะเป็นเรื่องจริงหรือเรื่องเท็จก็ตาม

      ดังนั้นแม้จะเป็นเรื่องจริงแต่หากทำให้ผู้ถูกใส่ความน่าจะเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง ก็อาจผิดฐานหมิ่นประมาทได้นั่นเอง 

    5.เรื่องที่ใส่ความต้องเป็นเรื่องที่เมื่อประชาชนทั่วไปได้ทราบเรื่องนั้นแล้ว จะต้องเชื่อว่าเป็นเรื่องที่สามารถเป็นไปได้หรือสามารถเกิดขึ้นจริงๆได้ 

     กรณีเรื่องที่ไม่สามารถเป็นไปได้จึงไม่เป็นการใส่ความ เช่น กล่าวหาว่าผู้อื่นเป็นกระสือ , เป็นผีปอบ ฎ.256/2509

 

กรณีที่ไม่เป็นการใส่ความ เช่น

  • ข้อเท็จจริงที่เป็นเพียงคำหยาบคาย หรือคำไม่สุภาพ เช่นด่าว่าไอชาติหมา , เสือกโง่เอง ฎ.576/2550             
  • ข้อเท็จจริงที่กล่าวด้วยความน้อยใจ , คำปรารภ , คำตัดพ้อ
  • ข้อเท็จจริงที่ไม่ชัดเจน มีความหมายคลุมเครือ

         ทั้งนี้กรณีใดไม่ถือเป็นการใส่ความหมิ่นประมาทนั้น จำเป็นต้องพิจารณาเป็นกรณี ๆ ไป 

 

ผู้อื่น

1. ผู้อื่นซึ่งอาจถูกใส่ความและเป็นผู้เสียหายในความผิดฐานนี้  จะเป็นบุคคลธรรมดา หรือ นิติบุคคล ก็ได้

-  กรณีบุคคลธรรมดา ต้องมีสภาพบุคคลในขณะถูกใส่ความ

-  กรณีนิติบุคคล ต้องเป็นการใส่ความในเรื่องที่เกี่ยวกับกิจการตามขอบวัตถุประสงค์ของนิติบุคคลนั้น ๆ ด้วย

2. ข้อความที่ใส่ความต้องเป็นการเฉพาะ ชัดเจนเพียงพอที่จะเข้าใจได้ว่าหมายถึงบุคคลใด

-  แม้ไม่ระบุชื่อชัดเจน แต่หากบุคคลที่สามสามารถเข้าใจได้ว่าหมายถึงใคร ก็อาจเป็นการใส่ความซึ่งเป็นความผิดได้

       หากเป็นการกล่าวใส่ความรวม ๆ โดยกล่าวถึงบุคคลทั้งกลุ่มหรือทั้งคณะ หากว่าจำนวนบุคคลในขณะนั้นมีไม่มาก ดังนี้ แต่ละคนหรือทุกคนร่วมกันในกลุ่มคณะนั้นร่วมกันเป็นผู้เสียหายในความผิดฐานหมิ่นประมาทได้

 

บุคคลที่สาม

               การใส่ความที่จะเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทได้ จะต้องเป็นการใส่ความโดยมีบุคคลที่สามเข้ามาเกี่ยวข้อง หากเป็นการพูดต่อหน้าผู้เสียหายโดยตรง ทั้งที่ไม่มีบุคคลที่สามมาเกี่ยวข้องเลย ย่อมไม่ใช่การหมิ่นประมาท แต่อาจเป็นการดูหมิ่นซึ่งหน้า

       ความผิดฐานหมิ่นประมาทจะสำเร็จได้ก็ต่อเมื่อบุคคลที่สามได้ทราบและเข้าใจข้อความนั้น ไม่ว่าบุคคลที่สามจะเชื่อเรื่องที่ใส่ความดังกล่าวหรือไม่ก็ตาม  แต่หากบุคคลที่สาม 

-         ไม่ได้รับข้อความ

-          ไม่ได้ยิน/หูหนวก หรือ

-         ไม่รู้เรื่อง ไม่เข้าใจข้อความ 

         = เป็นความผิดฐานพยายามหมิ่นประมาทเท่านั้น

 

       การใส่ความ แม้ผู้เสียหายไม่รู้หรือไม่เข้าใจในข้อที่ใส่ความก็ตาม ขอเพียงแต่บุคคลที่สามเข้าใจและน่าจะทำให้ผู้เสียหายเสียชื่อเสียงถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง ก็เพียงพอแล้ว 

 

โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้เสียหายนั้น เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง

               ในการพิจารณาว่าการใส่ความนั้นเป็นการใส่ความโดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชังหรือไม่ ต้องพิจารณาจากความรู้สึกและตามความรู้ความเข้าใจของวิญญูชนทั่วไป ทั้งนี้การใส่ความนั้นไม่จำเป็นว่าจะต้องเกิดผลคือมีการเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชังเกิดขึ้นกับผู้เสียหายจริงๆ เพราะแค่เพียงน่าจะเกิดความเสียหายดังกล่าวขึ้นกฎหมายก็ให้ความคุ้มครองผู้เสียหายแล้วนั่นเอง

 

    ตามแนวคำพิพากษาศาลฎีกา การใส่ความที่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทนั้น มักเป็นการใส่ความใน 5 เรื่องดังต่อไปนี้ 

  1. การใส่ความว่าประพฤติเสื่อมเสียในทางประเวณี เช่น ด่าผู้หญิงว่ากระหรี่  , ผู้หญิงขายตัว , โสเภณี , อีเมียน้อย , สำส่อน , ผู้หญิงหลายผัว เป็นต้น
  2. การใส่ความว่ามีพฤติกรรมที่สังคมรังเกียจหรือเป็นโรคที่สังคมรังเกียจ เช่น ด่าว่ามั่วจนเป็นเอดส์ 
  3. การใส่ความเกี่ยวกับฐานะทางการเงินว่าไม่น่าเชื่อถือ เช่น ใส่ความว่ารวยมาได้เพราะโกง ติดหนี้และหนีหนี้ไม่ยอมใช้
  4. การใส่ความเกี่ยวกับความประพฤติชั่วร้าย เช่น เป็นคนชอบลักขโมย , เป็นคนชอบทะเลาะตบตีทำร้ายร่างกาย
  5. การใส่ความเจ้าพนักงานว่าปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หรือ โดยทุจริต เช่น กินสินบน , ใช้อำนาจกลั่นแกล้งประชาชน , โกงบ้านโกงเมือง  
     

                ข้อควรระวัง หากการหมิ่นประมาทนั้นนั้นได้กระทำโดยการโฆษณาด้วยวิธีใด ๆ ก็ตาม ซึ่งทำให้ข้อเท็จจริงดังกล่าวแพร่หลายไปยังบุคคลที่สามเป็นวงกว้าง เช่น การโพสต์ข้อความในแอปพลิเคชันต่างๆ ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ , การประกาศหนังสือพิมพ์ , การติดใบปลิว  พูดประกาศผ่านไมโครโฟน ฯ ล ฯ ย่อมเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 328 ซึ่งมีโทษหนักกว่า 

                ทั้งนี้ แม้การกระทำนั้นเป็นความผิดครบองค์ประกอบฐานหมิ่นประมาทแล้วก็ตาม แต่ผู้กระทำก็อาจอ้างเหตุยกเว้นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329 , 331 หรืออาจพิสูจน์เพื่อให้ตนไม่ต้องรับโทษได้ตามหลักเกณฑ์มาตรา 330 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งรายละเอียดในส่วนนี้ขอยกเอาไปอธิบายในโอกาสต่อไป

 

                ข้อควรรู้  บางกรณีแม้ไม่เป็นการหมิ่นประมาท แต่อาจเป็นความผิดฐานดูหมิ่นซึ่งหน้าได้หากไม่มีบุคคลที่สามเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นคนละฐานความผิด หรือบางกรณีก็อาจเป็นทั้งการหมิ่นประมาทและการดูหมิ่นซึ่งหน้าได้ในคราวเดียวอีกด้วย

 

                 หากท่านรู้สึกว่าตัวเองเสียหายเพราะถูกกระทำอย่างไม่ถูกต้องหรือไม่ได้รับความเป็นธรรมในเรื่องใดก็ตาม ก็อย่าเพิ่งใจร้อนด่วนโพสต์หรือเล่าสู่กันฟังให้ใครต่อใครทราบ โดยทนายขอแนะนำให้รีบเข้าปรึกษาเพื่อหาทางใช้วิธีตามขั้นตอนกฎหมายที่ถูกต้อง ป้องกันการถูกฟ้องร้องเป็นคดีอาญาซึ่งทำให้ท่านเสียเปรียบและการสู้คดีเมื่อถูกฟ้องร้อง ท่านต้องเสียสุขภาพจิต เสียเวลาเป็นอย่างมาก

ด้วยความปรารถนาดี…